เส้นทางของนาฬิกานับตั้งแต่โบราณ มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนในปี 1285 ได้เกิด หอนาฬิกา แบบใช้มือไขลานที่เชื่อมกับลวดสลิงผ่านฟันเฟืองจักร  ถ่วงด้วยตุ้มน้ำหนักที่ปลายลวด แล้วกลไกจะค่อยๆปล่อยตุ้มน้ำหนักลงมาเรื่อยๆจนสุด

        จากนั้น กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) สุดยอดนักประดิษฐ์ชาวอิตาลี ได้เริ่มคิดค้นและประดิษฐ์ “นาฬิกาลูกตุ้ม” ขึ้นในปี 1580 หลังพบว่าจังหวะการแกว่งของลูกตุ้มจะเถรตรงและเท่ากัน เท่ากับจำนวนของเวลาเสมอ แต่ก็โชคร้ายที่การประดิษฐ์ก็ต้องหยุดกลางคัน เมื่อกาลิเลโอได้ป่วยและเสียชีวิตลง ต่อมา วินเซนโซ (Vincenzo) ลูกชายของกาลิเลโอได้สานต่อวิสัยทัศน์ ทำให้เกิดต้นแบบงานประดิษฐ์นาฬิกาลูกตุ้ม ขึ้นในปี 1649

        แนวคิดการพัฒนานาฬิกาบอกเวลาดำเนินต่อไปจนถึงปี 1656 คริสเตียน ฮูเจนส์ (Chirstiaan Huygens) นักคณิตศาสตร์ชาวดัตซ์ ได้พัฒนานาฬิกาลูกตุ้มให้ถ่วงน้ำหนัก จนเข็มเดินได้เที่ยงตรงที่สุดเป็นเรือนแรก

        การนำพลังงานจากการแกว่งไปมาของลูกตุ้ม (Pendulum) มาใช้ควบคุมการทำงาน  ใช้กับนาฬิกาที่อยู่นิ่ง อย่างนาฬิกาตั้งพื้นและนาฬิกาติดผนัง เพราะความสม่ำเสมอในการแกว่งของลูกตุ้มมีผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกา ส่วนใหญ่มักจะแกว่งหนึ่งครั้งต่อหนึ่งวินาที และมีการตีบอกเวลาแต่ละชั่วโมง บางเรือนตีบอกทุกสิบห้านาทีด้วย
การผลิตนาฬิกาในยุคแรกนั้น เป็นงาน Hand Made และภูมิปัญญา ที่น่าทึ่ง ชิ้นส่วนในเครื่องและตัวเรือนใช้โลหะเช่น ทองเหลือง และเหล็ก เป็นวัสดุหลัก

จากนั้นจึงมีการทำตัวเรือนด้วยไม้ เริ่มจากกล่องไม้ธรรมดา ผ่านกาลเวลาที่ต้องให้เครดิตช่างนาฬิกาชาวอังกฤษที่ได้ปรับปรุงรูปโฉมให้สวยงาม โดยนำรูปแบบการตกแต่งสถาปัตยกรรมมาใช้ ไม้ที่นิยมใช้ เช่น ไม้โอ๊ค วอลนัท และมะฮอกกานี บางเรือนประดับด้วยการฝังโลหะเป็นลวดลาย การขลิบทอง การลงยา และนำวัสดุอื่นมาใช้ เช่น หินอ่อนที่มีลวดลายสวยงาม ทำให้เราได้เห็นนาฬิกาไม้โบราณที่เปี่ยมด้วยฝีมือและคุณค่าทางศิลปะ จนเป็นหนึ่งในของสะสมของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก และของสะสมอันล้ำค่า

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกนาฬิกาเกิดขึ้นในช่วง ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 เมื่อนาฬิกา ควอตซ์ (quartz) เริ่มเข้ามาแทนที่นาฬิกาลูกตุ้ม ทำให้เข็มนาฬิกาทำงานเที่ยงตรงสูงมาก  และราคาไม่สูงนัก

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบนาฬิกาไม้ทรงโบราณที่มีลูกตุ้มมีเป็นงามที่ล้ำค้าและลงตัว ถึงกับมีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ตุ้มแกว่งไปมาตามจังหวะเวลา ดูราวนาฬิกาเรือนนี้มีลมหายใจ” ทำให้นาฬิกาแบบโบราณได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน   อีกทั้ง ในปัจจุบันนักออกแบบสร้างสรรค์ได้ประยุกต์รูปทรงและรายละเอียดของตัวเรือนให้หลากหลาย มีการใช้เทคนิคสีของงานไม้ที่ให้สีไม้แตกต่างอย่างธรรมชาติ  โดยคงกลิ่นไอความคลาสสิคโบราณให้ความสง่างามกับมุมบ้าน และตอบโจทย์หลายคนที่ยังโหยหาความคลาสสิคที่เหมาะกับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน